
บาหยา (Baya) ย่าหยา, บุษบาฮาวาย, บุษบาริมทาง (กรุงเทพฯ); ผักกูดเน่า (เชียงใหม่), อังกาบ, อ่อมแซบ, หญ้าเบญจรงค์, ต้นอ่อมแซบ, ตำลึงหวาน, เบญจรงค์
จากวัชพืช ที่พบขึ้นตามข้างทางทั่วไป กลายเป็นพืชกินได้ รสชาติอร่อย มีสรรพคุณทางด้านสมุนไพร และยังปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ ได้อีกด้วย ดอกไม้ริมทาง ที่มีประโยชน์มากมายขนาดนี้ หากเราไม่รู้จัก ก็จะกลายเป็นวัชพืชไร้ค่า ก็อาจจะถูก ถอน ถาง ทำลายทิ้ง ไปอย่างน่าเสียดายวัชพืชที่รัก บาหยา บุษบาฮาวาย, บุษบาริมทาง, อ่อมแซบ, ตำลึงหวาน
หลายท่านได้เห็นภาพดอกสวยๆ นี้แล้ว อาจจะร้อง อ๋อ! คุ้นๆ เคยเห็นตามป่าหญ้า ข้างทางทั่วไป ส่วนใหญ่จะขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือแม้แต่มาขึ้นเองในเขตบ้าน ขึ้นรกดกงามเป็นดง เป็นกลุ่ม คลุมดินเต็มไปหมด จนบางคนอาจจะเคยถอน ถาง ทำลายทิ้งไปก็มี เพราะไม่รู้จักว่าต้นอะไร เห็นว่าไม่มีประโยชน์อะไร ก็เลยไม่ได้สนใจ ซึ่งน่าเสียดายมากครับวันนี้ผมจึงขอแนะนำให้รู้จักกับ ดอกไม้ริมทาง นี้มีชื่อสามัญว่า "บาหยา" (Baya)
มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Asystasia gangetica (L.) T. Anders. จัดอยู่ในวงศ์ Acanthaceae

- ชื่อวิทยาศาสตร์ : Asystasia gangetica (L.) T. Anders.
- ชื่อพ้อง : Justicia gangetica L.
- ชื่อสามัญ : Ganges Primrose, Ganges River asystacia, Chinese violet, Coromandel, Creeping foxglove, Baya, Yaya, Indian asystacia
- ชื่ออื่น : บาหยา, ย่าหยา, บุษบาฮาวาย, บุษบาริมทาง(กรุงเทพฯ); ผักกูดเน่า (เชียงใหม่), อังกาบ, อ่อมแซบ, หญ้าเบญจรงค์, ตำลึงหวาน, เบญจรงค์ 5 สี
จากที่เคยเป็นวัชพืช กลายเป็นไม้ประดับที่สวยงามมาก ปลูกเลี้ยงง่าย ทนทาน โตเร็ว ออกดอกได้ตลอดทั้งปี ดอกน่ารักมาก สีสันสวยงาม สะดุดตา และมีหลากหลายโทนสี มีทั้ง ดอกสีเหลืองอ่อน ดอกสีขาวครีม ดอกสีชมพู หรือดอกสีม่วงอ่อน สีหวาน เหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้กระถางแขวน หรือ ปลูกคลุมดิน ประดับสวน ได้ทั้งแดดเต็มวัน หรือแดดรำไร จึงมีชื่อเรียกทางการค้า ในวงการไม้ดอกไม้ประดับว่า"บุษบาริมทาง" , "บุษบาฮาวาย" หรือ "เบญจรงค์ 5 สี" เป็นต้น ปัจจุบัน มี สายพันธุ์ใบด่าง ปลูกใส่กระถาง วางขายตามร้านขายต้นไม้ทั่วไปแล้วครับ
นอกจากมีดอกสวยงาม เป็นไม้ดอกไม้ประดับได้แล้ว ยังเป็นพืชกินได้อีกด้วย เป็นพืชอาหารที่สามารถนำมากินได้เกือบทั้งต้น ทั้ง ดอก ใบ ยอดอ่อน ก้าน ใบอ่อน มีรสหวานเป็นธรรมชาติ กินสดหรือจะปรุงเป็นอาหารก็ได้ ทำอาหารได้หลากหลาย เช่น ผัดไฟแดง ชุปแป้งทอด ลวก-กินสดจิ้มน้ำพริก แกงจืด หรือ แกงอ่อม มีรสชาติอร่อยมาก จนมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "ตำลึงหวาน" และได้รับความนิยมนำมาทำแกงอ่อม จนมีชื่อพื้นเมืองอีกชื่อหนึ่งว่า "อ่อมแซบ" ฟังชื่อแล้ว ก็คงจะ "แซบ" สมชื่อจริงๆ นะครับ นอกจากจะมีรสชาติอร่อย "แซบ" แล้ว ยังมีคุณค่าทางอาหาร และสรรพคุณทางด้านสมุนไพรอีกมากมาย
สรรพคุณทางยา
- ราก แก้ไข้เพื่อโลหิต แก้พิษฝีภายใน แก้ไข้เหนือ ขับลมให้ซ่านออกมาทั่วตัว
- ใบ แก้ปวดบวม ปวดตามข้อ ขับพยาธิ และเป็นพืชอาหาร ใช้กินเป็นผัก
- ใบและดอก สมานลำไส้ ลดไข้ บรรเทาอาการเจ็บท้องคลอดลูก บำรุงเลือด บำรุงกำลัง บำรุงสายตา แก้พิษงู และแก้ม้ามโตในเด็กที่เกิดใหม่
องค์ประกอบทางเคมี
ดอกพบไบฟลาโวนไกลโคไซด์ ได้แก่ apigenin 7-O-glucosyl (3'→6"), luteolin 7"-O-glucoside ส่วนเหนือดิน พบ asysgangoside, 5,11-epoxymegastigmane glucoside, salidroside, benzyl beta-D-glucopyranoside, (6S,9R)-roseoside, ajugol, apigenin 7-O-neohesperidosideฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
- สารสกัดเฮกเซน เอทิลอะซิเตต และเมทานอลจากทั้งต้น มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมลบ และแกรมบวก และเชื้อรา หลายชนิด
- สารสกัดน้ำ และเมทานอลจากลำต้นและใบ มีฤทธิ์ลดปวด และต้านการอักเสบในหนูทดลอง
- สารสกัดเอทานอลจากใบ มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาล และไขมันในเลือด ในหนูทดลอง
- สารสกัดเมทานอลจากใบ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลอง
- สารสกัดเฮกเซน เอทิลอะซิเตต และเมทานอลจากใบ มีฤทธิ์ลดสารฮีสตามีนจากโรคหอบหืดจากการทดสอบด้วยชุดทดสอบแบบ in vitro
เจ้าดอกไม้ริมทางที่เคยดูเหมือนไร้ค่า แต่กลับมีประโยชน์มากมายขนาดนี้ คงไม่ต้องถอน ถาง ทำลายทิ้งกันแล้วนะครับ หรือหากใครอยากจะปลูกไว้ใช้ประโยชน์บ้าง ก็สามารถปลูกในกระถาง หรือจะปลูกลงดินก็ได้ครับ ปลูกง่ายมาก อดทน ขึ้นง่าย โตเร็ว
การขยายพันธุ์ได้ง่ายๆ ด้วยการปักชำกิ่ง โดยการเลือกกิ่งแก่ ตัดกิ่งต่ำกว่าข้อใบ ตัดใบแก่ออก ปักชำลงดิน รดน้ำให้ชุ่มวันละ 1 ครั้ง ออกรากง่ายครับ คือถ้าข้อถึงดินก็จะออกรากได้เองอยู่แล้วครับ
ขอบคุณสำหรับข้อมูลประเภทนี้
ตอบลบ